วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2557

สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดอุทัยธานี

สถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดในการมาท่องเที่ยวจังหวัดอุทัยธานี
วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี
วันเปิดทำการ : ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : 10:30 – 18:00
รายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยว :
      หรือ วัดท่าซุง เดิมเป็นวัดที่สร้างในสมัยอยุธยา มีโบสถ์ขนาดเล็ก ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังภาพพุทธประวัติฝีมือช่างพื้นบ้านเข้าใจว่าเขียนในสมัยหลัง บางภาพต่อเติมจนผิดส่วน สมบัติอีกชิ้นหนึ่งของวัด คือ ธรรมาสน์ที่หลวงพ่อใหญ่สร้าง  ที่วิหารมีพระปูนปั้น มีลวดลายไม้จำหลักขอบหน้าบันเหลืออยู่ 2-3 แห่ง  ด้านตรงข้ามกับวัดเป็นปูชนียสถานแห่งใหม่ มีบริเวณกว้างขวางมาก พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) พระเถระผู้มีชื่อเสียงได้สร้างอาคารต่าง ๆ มากมาย เช่น พระอุโบสถใหม่ ภายในประดับและตกแต่งอย่างวิจิตร บานหน้าต่างและประตูด้านในเขียนภาพเทวดาโดยจิตรกรฝีมือดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินมาตัดลูกนิมิตพระอุโบสถแห่งนี้ บริเวณโดยรอบสร้างกำแพงแก้วและมีรูปหล่อหลวงพ่อปาน และหลวงพ่อใหญ่ขนาด 3 เท่า อยู่มุมกำแพงด้านหน้า  มณฑป และ พระวิหาร ที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง และศพของหลวงพ่อฤาษีลิงดำที่ไม่เน่าเปื่อย อาคารเหล่านี้ส่วนใหญ่มีลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกันคือสร้างด้วยโมเสกสีขาวใสเหมือนแก้ว นอกจากนี้ยังมีศาลาหลายหลังใช้เป็นสถานที่ฝึกสมาธิและมีที่พักให้ด้วย อาคารแต่ละหลังจะมีเวลาเปิด-ปิดไม่ตรงกันและปิดช่วงกลางวัน โดยอาคารแต่ละหลังจะทยอยเปิดตั้งแต่เวลา 10.30 น. และจะเปิดให้ชมโดยพร้อมเพรียงกันอีกครั้งตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป
      บริเวณท่าน้ำวัดท่าซุงมีเรือนำเที่ยวขนาด 40 ที่นั่ง บริการนำเที่ยวเส้นทางวัดท่าซุง-หมู่บ้านกลางน้ำ แวะซื้อของที่ระลึก และผักปลอดสารพิษ จากชาวบ้าน ใช้เวลาประมาณ 40 นาที ราคาคนละ 40 บาท

วัดธรรมโฆษก (วัดโรงโค)
วันเปิดทำการ : ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : 08:00 – 16:30
รายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยว :
      หรือ วัดโรงโค ถนนศรีอุทัย ตำบลอุทัยใหม่ ใกล้ตลาดเทศบาล  เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการเมืองอุทัยธานี และเป็นลานประหารนักโทษ เป็นวัดที่สร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมืองดงามจัดว่าสวยงามที่สุดในอุทัยธานี สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลายที่ยังมีชีวิตอยู่ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ และตอนผจญมาร ผนังข้างด้านบนเป็นภาพเทพชุมนุมสลับกับพัดยศ กรอบหน้าต่างด้านนอกเป็นลายปูนปั้น วิหารสร้างยกพื้นสูงกว่าโบสถ์ หน้าบันเป็นรูปช้างสามเศียร ภายในมีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งมีประมาณ 20 องค์ จัดเรียงอย่างเป็นระเบียบ บนหน้าต่างด้านนอกมีลายปูนปั้นเป็นเรื่องรามเกียรติ์ประดับเป็นกรอบ ประตูวิหารเป็นไม้จำหลักลายดอกไม้ทาสีแดงงดงามมาก โบสถ์และวิหารมีพระปรางค์และเจดีย์เรียงรายอยู่ 2-3 องค์

วัดมณีสถิตย์กปิฏฐาราม
วันเปิดทำการ : ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : 08:00 – 16:30
รายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยว :
      ถนนสุนทรสถิตย์ หลังสวนสุขภาพ ตรงวงเวียนหอนาฬิกา เป็นวัดที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ ชาวเมืองเรียกกันว่า วัดทุ่งแก้ว ในวัดนี้มีพระปรางค์ใหญ่อยู่องค์หนึ่ง ฐานกว้าง 8 เมตร สูง 16 เมตร ลักษณะเป็นปรางค์ห้ายอด สร้างเมื่อ พ.ศ. 2452 ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อหลวงพ่อแย้มผู้สร้างวัดนี้ บริเวณวัดมีสระน้ำก่ออิฐเป็นสระน้ำมนต์ขนาดใหญ่ กลางสระมีแผ่นศิลาอักขระยันต์ของหลวงพ่อแย้มฝังเอาไว้ น้ำในสระแห่งนี้เคยใช้เป็นน้ำสรงพุทธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7

วัดสังกัสรัตนคีรี
วันเปิดทำการ : ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : 08:00 – 16:30
รายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยว :
      ตั้งอยู่เชิงเขาสะแกกรัง สุดถนนท่าช้าง ในเขตเทศบาลเมือง ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอุทัยธานี มีประวัติว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้นำพระพุทธรูปขนาดย่อมที่ชำรุดไปไว้ตามหัวเมืองต่าง ๆ เมืองอุทัยธานีได้รับ 3 องค์ โดยอัญเชิญลงแพมาขึ้นฝั่งที่ท่าพระ (ตรงข้ามศาลาประชาคมจังหวัดอุทัยธานี) แล้วนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดขวิด พระพุทธรูปองค์หนึ่งมีขนาดใหญ่เป็นพระเนื้อสำริดปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 ศอก สร้างในสมัยพระยาลิไท ฝีมือช่างสุโขทัย มีส่วนเศียรกับส่วนองค์พระเป็นคนละองค์ เข้าใจว่าคงซ่อมเป็นองค์เดียวกันก่อนนำมาไว้ที่เมืองอุทัยธานี ต่อมาเมื่อยุบวัดขวิดไปรวมกับวัดทุ่งแก้ว จึงได้ย้ายพระพุทธรูปองค์นี้ไปไว้ที่วัดสังกัสรัตนคีรี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไป 1 กิโลเมตร และได้ทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในพระเศียร พร้อมกับถวายนามว่า พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี มีการจัดงานประเพณีตักบาตรเทโว ซึ่งพระสงฆ์ประมาณ 500 รูปจะเดินลงบันไดจากยอดเขาสะแกกรังมารับบิณฑบาตที่ลานวัดเป็นประเพณีที่สำคัญของจังหวัด การเดินทาง จากตัวเมืองใช้ถนนท่าช้างจนสุดทาง ด้านซ้ายมือเป็นพระวิหาร ประดิษฐานพระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปประจำจังหวัดอุทัยธานี ด้านขวามือเป็นบันไดขึ้นเขาสะแกกรัง
  
วัดอุโปสถาราม
วันเปิดทำการ : ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : 08:00 – 16:30
รายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยว :
      เดิมชื่อ วัดโบสถ์มโนรมย์ ชาวบ้านเรียกว่าวัดโบสถ์ เป็นวัดเก่าแก่อยู่ริมลำน้ำสะแกกรัง บนเกาะเทโพ ในเขตเทศบาลเมือง จากตลาดสดเทศบาล มีสะพานข้ามแม่น้ำไปยังวัดอุโปสถาราม ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ สิ่งที่น่าสนใจในวัดได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์และวิหาร เป็นภาพเขียนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในโบสถ์เป็นภาพพุทธประวัติเริ่มตั้งแต่ประสูติจนถึงปรินิพพานฝีมือประณีตมาก ในวิหารเขียนภาพพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดเทพยดาบนสวรรค์และภาพปลงสังขาร ด้านบนฝาผนังเป็นพระสงฆ์สาวกชุมนุมสลับกับพัดยศเหมือนจะไหว้พระประธานในวิหาร ฝาผนังด้านนอกหน้าวิหารมีภาพถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและภาพชีวิตชาวบ้านที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา เข้าใจว่าเป็นฝีมือชั้นหลัง นอกจากนี้ภายในวัดอุโปสถาราม ยังมีสิ่งของที่น่าชมอีกมาก เช่น เสมาหินสีแดงหน้าโบสถ์ ตู้พระธรรมและตู้ใส่ของเขียนลายกนกเถาลายดอกไม้ บาตรฝาประดับมุกที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 เป็นฝีมือช่างสิบหมู่ และหงส์ยอดเสา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอาคารสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่น่าชมหลายหลัง ได้แก่ มณฑปแปดเหลี่ยม ลักษณะผสมแบบตะวันตก มีลายปูนปั้นคล้ายไม้เลื้อยที่กรอบหน้าต่าง และมีพระพุทธรูปปูนสลักนูนสูงอยู่ด้านนอกอาคาร เจดีย์หกเหลี่ยม เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองทรงรัตนโกสินทร์ หอประชุมอุทัยพุทธสภา  เป็นศาลาทรงไทย ใช้เป็นหอสวดมนต์ หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้น และ แพโบสถ์น้ำ  ตั้งอยู่หน้าวัด สร้างขึ้นเพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือใน พ.ศ. 2449 เดิมเป็นแพแฝด 2 หลัง มีช่อฟ้า ใบระกาเหมือนอุโบสถทั่วไป หน้าบันมีป้ายวงกลมจารึกภาษาบาลี สุ อาคต เต มหาราชแปลว่า มหาราชเสด็จฯ มาดี ต่อมาใน พ.ศ. 2519 ได้ซ่อมแซมบูรณะใหม่เป็นหลังเดียวยกพื้น 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา และย้ายป้ายกลมมาไว้หน้าจั่วตรงกลาง แพโบสถ์น้ำหลังนี้ ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา เช่น งานแต่งงาน บวชนาค งานศพและงานบุญต่าง ๆ
  
วัดถ้ำเขาวง
วันเปิดทำการ : ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : 08:00 – 16:30
รายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยว :
      ตำบลบ้านไร่ เป็นเขาขนาดใหญ่ ห่างจากอำเภอไป 12 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 3011 ผ่านทางโค้งศาลเจ้าพ่อเขารักแล้วมาตัดกับสามแยกให้เลี้ยวขวาไปประมาณ 6 กิโลเมตร จะมีทางแยกเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เขาวง ประมาณ 8 กิโลเมตร ถึงทางแยกเข้าไปอีก 300 เมตร ลาดชันขึ้นทีละน้อย เส้นทางอ้อมโค้งเป็นหน้าผาต้องไต่ไปตามซอกเขา  ตัววัดเป็นอาคาร 4 ชั้น ใต้ถุนเป็นลานเอนกประสงค์รวมทั้งร้านขายของ ชั้นที่ 2 เป็นวิหาร ชั้นที่ 3 เป็นกุฏิ ส่วนโบสถ์จะอยู่ชั้นที่ 4 สร้างด้วยไม้สัก และไม้มะค่า รวมทั้งไม้เก่าจากเรือนไทยที่อยุธยา อ่างทอง หลังคานำมาจากลำพูน ช่างที่เข้าตัวเรือน รวมทั้งทำส่วนตัวเหงา ป้านลม และจั่ว มาจากอยุธยา
การจัดภูมิทัศน์ในวัดถือว่าสวยงาม ฉากหลังเป็นเขาหินปูนสูงตระหง่าน ด้านหน้ามีบ่อน้ำและสวนตกแต่งด้วยหิน ไม้ดัด และไม้ประดับ มูลค่าในการก่อสร้างประมาณ 30 ล้านบาท ระหว่างทางเดินไปชมถ้ำ ผ่านน้ำตกเทียมที่ดูเข้ากับบรรยากาศ ที่เขาด้านหลังมีถ้ำอยู่ 7-8 ถ้ำ บางถ้ำเป็นที่นั่งวิปัสสนาสำหรับพระภิกษุ บางถ้ำเป็นถ้ำค้างคาว บางถ้ำมีหินงอกหินย้อยให้ชม บนเขาเป็นที่ราบกว้างมีไม้ยาง ไม้มะค่า ไม้เสลา เป็นต้น และมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่บ้าง

น้ำตกผาร่มเย็น
วันเปิดทำการ : ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : 08:30 – 17:00
รายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยว :
      บ้านใหม่ร่มเย็น สามารถมองเห็นได้จากริมถนน เป็นสายน้ำสีขาวทิ้งตัวลงมาในป่าทึบอยู่เบื้องล่าง ชาวอุทัยธานีว่าที่นี่เป็นน้ำตกที่สวยที่สุดในจังหวัด เพราะสายน้ำที่ไหลลงมานั้นเป็นสายบาง ๆ ตกลงมาตรง ๆ คล้ายสายฝน ผ่านหน้าผาดินที่มีมอสสีเขียวเกาะอยู่เต็มไปหมด ประกอบกับพื้นที่เป็นป่ารกครึ้ม ทำให้คนที่ได้ยืนชมมีความรู้สึกชุ่มฉ่ำเย็นตามไปด้วย การเดินเข้าสู่น้ำตกผาร่มเย็นใช้เวลาประมาณ 20 นาที ปกติเดินเองได้ แต่หากต้องการคนนำทางติดต่อได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลเจ้าวัด โทร.0 5698 4069
      การเดินทาง จากอำเภอบ้านไร่ใช้ทางหลวงหมายเลข 3011 สายบ้านไร่-พุบอน จนกระทั่งถึงทางเข้าบ้านใหม่ร่มเย็น เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงปากทางเดินเท้า จากนั้นเดินเท้าสู่น้ำตกอีก 400 เมตร

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง
วันเปิดทำการ : ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : 08:00 – 17:00
รายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยว :
      ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่มอบเป็นรางวัลแก่คนไทยและคนทั้งโลก อีกทั้งเป็นพื้นที่ทรงคุณค่าต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งคนและสัตว์ป่าที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้เป็นมรดกแห่งแผ่นดินตลอดไป ได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก
ห้วยขาแข้งได้เป็นมรดกโลกเพราะสภาพป่าของที่นี่มีความหลากหลายทางธรรมชาติประกอบด้วยป่าถึง 5 ใน 7 ชนิด ที่พบในเขตร้อนชื้น ได้แก่ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าทุ่งหญ้า ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ก่อให้เกิดความหลากหลายของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ บางชนิดเป็นสัตว์ที่หายากใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น ควายป่า เลียงผา เสือดาว หมาใน ไก่ป่า นกยูงไทย และยังมีแมลงป่าพันธุ์ต่างๆ อีกมากมาย
      ปกติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวที่เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ทั่วไป เพราะพื้นที่นี้จัดเป็นเขตอนุรักษ์และมีความอ่อนไหวสูง ฉะนั้นการมีคนจำนวนมากเข้าไปอาจก่อให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลของระบบนิเวศได้ แต่อย่างไรก็ดีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งซึ่งได้กลายเป็นมรดกโลกและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จึงเปิดจุดผ่อนปรนทั้งหมด 3 จุด ให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปศึกษาธรรมชาติ ได้แก่
      1.บริเวณสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อำเภอลานสัก มีกิจกรรม เดินป่าเส้นทางของบ้านเสือ คารวะอนุสรณ์สถาน สืบ นาคะเสถียร
      2.บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าไซเบอร์ อำเภอห้วยคต กิจกรรมตั้งแคมป์ริมน้ำตกไซเบอร์ (ดูรายละเอียดที่น้ำตกไซเบอร์)
      3.บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี อำเภอบ้านไร่ ทางหลวงหมายเลข 3011 สายห้วยแม่ดี-บ้านใหม่คลองอังวะ กิจกรรม ตั้งแคมป์ตามโครงการห้องรับแขกห้วยขาแข้ง และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ การเข้าไปในเขตฯ ควรปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด

      ในบริเวณที่ทำการเขตฯ มี รูปปั้นคุณสืบ นาคะเสถียร  หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อดูความเป็นไปของผืนป่าตะวันตก มีบันได 8 ขั้น ที่สื่อความหมายว่าคุณสืบดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ อยู่ 8 เดือน และลวดลายบนบันไดบ่งบอกถึงอุปสรรคในการทำงานที่นี่

บทนำทิปส์สถานที่ท่องเที่ยว

สถานที่ท่องเที่ยว
อุทัยธานี เมืองพระมหาชนกจักรี ริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้มีผู้คนเข้ามาอาศัยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังหลักฐานภาพเขียนผนังผาเขาปลาร้าในเขตอำลานสัก จนยุคสมัยสุโขทัย มีตำนานว่า ท้าวมหาพรหมได้รวบรวมผู้คนเข้ามาสร้างเมืองที่บ้านอุทัยเก่า หรือเรียกว่า "เมืองอู่ไทยซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอหนองฉางในปัจจุบัน ผู้คนที่อาศัยมีทั้งชาวทวารวดีเชื้อสายมอญและคนไทยในสมัยอยุธยา เมืองอุทัยธานีมีฐานะเป็นหัวเมืองหน้าด่านชั้นนอก เพื่อสกัดกั้นกองทัพพม่าที่จะเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาทางด่านเจดีย์สามองค์และด่านเมาะตะมะ ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีผู้คนอพยพมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนบริเวณที่ลุ่มแม่น้ำสะแกกรังมากขึ้น โดยเฉพาะชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์และหลวงพระบาง และชาวจีนโพ้นทะเล ทำให้อุทัยธานีกลายเป็นศูนย์กลางการค้าของผู้คนในละแวกนั้น ในรัชกาลที่ 7 ได้มีการยกเลิกการปกครองแบบมณฑล และยกฐานะกลายเป็นจังหวัดอุทัยธานีจนถึงปัจจุบันอุทัยธานีวันนี้สงบเงียบ วิถีชีวิตผู้คน เรือนไม้ห้องแถวในตลาดริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง ยังคงเป็นภาพประทับใจที่ผู้มาเยือนสามารถพบเห็นได้อยู่เสมอ ผู้คนส่วนใหญ่ในจังหวัดประกอบอาชีพกสิกรรม ทำนา ทำสวน ทำประมงพื้นบ้าน เลี้ยงปลากระชังริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรังและแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ยังมีผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้งเป็นส่วนหนึ่งของป่าตะวันตก ป่าผืนใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อุดมสมบูรณ์มีความหลากหลายทางธรรมชาติทั้งพันธุ์พืชและสัตว์ป่า

ทิปส์ท่องเที่ยว
  • ในช่วงเที่ยงของทุกวันที่วิหารแก้ววัดท่าซุงจะมีการนั่งวิปัสสนา วิหารจะปิดชั่วคราว นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ในช่วงเวลา 09.00-11.45 น.และ 14.00-16.00 น. เท่านั้น และควรแต่งกายสุภาพสำรวม
  • การเดินทางเข้าไปยังที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งในอำเภอลานสัก และน้ำตกไซเบอร์ในอำเภอห้วยคต ในช่วงฤดูฝนต้องใช้รถกระบะหรือรถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น
  • เที่ยวตลาดโคกระบือในอำเภอทัพทัน จะเปิดค้าขายกันเฉพาะวันพุธและวันอาทิตย์เท่านั้น นักท่องเที่ยวควรสวมกางเกงขาสั้นและรองเท้าที่กระชับ เพราะสภาพพื้นที่มักเป็นดินเปียกแฉะ เดินเท้าค่อนข้างลำบาก

แม่น้ำและแหล่งน้ำที่สำคัญ

แม่น้ำและแหล่งน้ำที่สำคัญ


  • แม่น้ำสะแกกรัง มีต้นกำเนิดจากเขาโมโกจูในจังหวัดกำแพงเพชร ไหลผ่านอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ผ่านอำเภอสว่างอารมณ์ อำเภอทัพทัน และอำเภอเมืองอุทัยธานี ก่อนไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ที่บ้านท่าซุง ตำบลท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี มีความยาวประมาณ 225 กิโลเมตร โดยในแม่น้ำบริเวณตลาดหน้าวัดอุโปสถาราม มีชุมชนชาวแพซึ่งอยู่อาศัยกันมาหลายชั่วอายุคน มีการทำสวนต้นเตยและเพาะเลี้ยงปลาแรดในกระชังซึ่งเป็นปลาที่มีชื่อของจังหวัดด้วย
  • แม่น้ำเจ้าพระยา ไหลมาจากจังหวัดนครสวรรค์ผ่าน ต.หาดทนง (เกาะเทโพ) อ.เมือง จังหวัดอุทัยธานี
  • ลำห้วยคลองโพ เกิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอชุมตาบง อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี ไหลมาบรรจบแม่น้ำสะแกกรัง(แควตากแดด) ที่ตำบลสว่างอารมณ์ อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี มีความยาวประมาณ 30 กิโลเมตร
  • ลำห้วยขุนแก้ว เกิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอบ้านไร่ และอำเภอห้วยคต ไหลผ่านอำเภอห้วยคต อำเภอลานสัก อำเภอหนองฉาง อำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี และอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท มาบรรจบแม่น้ำท่าจีนที่ตำบลวัดสิงห์ อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท มีความยาวประมาณ 60 กิโลเมตร
  • ลำห้วยทับเสลา ห้วยทับเสลาเป็นลำห้วยสาขาของแม่น้ำสะแกกรัง ห้วยทับเสลา มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอบ้านไร่ อำเภอลานสัก ทางทิศตะวันตกของจังหวัดอุทัยธานี ไหลผ่านอำเภอลานสัก อำเภอหนองฉาง อำเภอหนองขาหย่าง มาบรรจบแม่น้ำสะแกกรังที่ตำบลน้ำซึม อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี มีความยาวจากท้ายเขื่อนทับเสลาถึงจุดที่บรรจบกับแม่น้ำสะแกกรังประมาณ 90 กิโลเมตร
  • ลำห้วยกระเสียว เป็นลำห้วยสาขาใหญ่ของแม่น้ำท่าจีน ต้นน้ำอยู่ระหว่างเขาแหละกับเขาใหญ่ในเขตอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ไหลผ่านท้องที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี อำเภอด่านช้าง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี มาบรรจบแม่น้ำท่าจีนที่บ้านทึง อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี รวมความยาวประมาณ 140 กิโลเมตรแม่น้ำสะแกกรัง มีต้นกำเนิดจากเขาโมโกจูในจังหวัดกำแพงเพชร ไหลผ่านอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ผ่านอำเภอสว่างอารมณ์ อำเภอทัพทัน และอำเภอเมืองอุทัยธานี ก่อนไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ที่บ้านท่าซุง ตำบลท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี มีความยาวประมาณ 225 กิโลเมตร โดยในแม่น้ำบริเวณตลาดหน้าวัดอุโปสถาราม มีชุมชนชาวแพซึ่งอยู่อาศัยกันมาหลายชั่วอายุคน มีการทำสวนต้นเตยและเพาะเลี้ยงปลาแรดในกระชังซึ่งเป็นปลาที่มีชื่อของจังหวัดด้วย
  • แม่น้ำเจ้าพระยา ไหลมาจากจังหวัดนครสวรรค์ผ่าน ต.หาดทนง (เกาะเทโพ) อ.เมือง จังหวัดอุทัยธานี
  • ลำห้วยคลองโพ เกิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอชุมตาบง อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี ไหลมาบรรจบแม่น้ำสะแกกรัง(แควตากแดด) ที่ตำบลสว่างอารมณ์ อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี มีความยาวประมาณ 30 กิโลเมตร
  • ลำห้วยขุนแก้ว เกิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอบ้านไร่ และอำเภอห้วยคต ไหลผ่านอำเภอห้วยคต อำเภอลานสัก อำเภอหนองฉาง อำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี และอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท มาบรรจบแม่น้ำท่าจีนที่ตำบลวัดสิงห์ อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท มีความยาวประมาณ 60 กิโลเมตร
  • ลำห้วยทับเสลา ห้วยทับเสลาเป็นลำห้วยสาขาของแม่น้ำสะแกกรัง ห้วยทับเสลา มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอบ้านไร่ อำเภอลานสัก ทางทิศตะวันตกของจังหวัดอุทัยธานี ไหลผ่านอำเภอลานสัก อำเภอหนองฉาง อำเภอหนองขาหย่าง มาบรรจบแม่น้ำสะแกกรังที่ตำบลน้ำซึม อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี มีความยาวจากท้ายเขื่อนทับเสลาถึงจุดที่บรรจบกับแม่น้ำสะแกกรังประมาณ 90 กิโลเมตร
  • ลำห้วยกระเสียว เป็นลำห้วยสาขาใหญ่ของแม่น้ำท่าจีน ต้นน้ำอยู่ระหว่างเขาแหละกับเขาใหญ่ในเขตอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ไหลผ่านท้องที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี อำเภอด่านช้าง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี มาบรรจบแม่น้ำท่าจีนที่บ้านทึง อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี รวมความยาวประมาณ 140 กิโลเมตร
เทศกาลประเพณี
งานตักบาตรเทโว วัดสังกัสรัตนคีรี
·     ถือเป็นประเพณีสำคัญในวันออกพรรษาของจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งจะจัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 (ตุลาคม) ของทุกปี พระสงฆ์ทุกรูปที่จำพรรษาในเขตอำเภอเมืองอุทัยธานีประมาณ 200-300 รูป จะออกรับบิณฑบาตโดยเดินลงบันไดจากยอดเขาสะแกกรังนำด้วยพระพุทธรูปปางเสด็จจากดาวดึงส์ลงมารับบิณฑบาตข้าวสารจากพุทธศาสนิกชนที่ลานวัด โดยสมมติมณฑปบนยอดเขาสะแกกรังเป็น "สิริมหามายากูฎคาร" ที่พระพุทธเจ้าทรงเทศน์โปรดมารดา แล้วเสด็จกลับสู่โลกมนุษย์ลงบันได 339 ขั้น ซึ่งถือเป็นบันไดแก้วสู่กัสนคร คือ บริเวณวัดสังกัสรัตนคีรี ในวันนั้นประชาชนจะแต่งกายสวยงามและมาร่วมทำบุญกันอย่างพร้อมเพรียง นับเป็นงานประเพณีที่มีชื่อเสียงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทุกปี

งานไหว้พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ วัดสังกัสรัตนคีรี
·   เป็นงานท้องถิ่น จัดขึ้นในวันขึ้น 3-8 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี เป็นงานประเพณีไหว้พระคู่บ้านคู่เมืองอุทัยธานี ซึ่งเดิมนั้นเป็นงานนมัสการปิดทองพระพุทธบาทจำลองบนยอดเขาสะแกกรัง ในระยะหลังจึงจัดงานในคราวเดียวกันที่วัดนี้ในวันขึ้น 5 ค่ำ เนื่องจากเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่มาไหว้พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์และขึ้นยอดเขาเพื่อปิดทองพระพุทธบาทจำลองมากที่สุด และได้จัดให้มีการละเล่นสนุกสนานควบคู่กันไปทุกปี

  งานประจำปีวัดหนองขุนชาติ  อำเภอหนองฉาง
·     โดยจัดให้มีงานในวันขึ้น 12 ค่ำ - วันแรม 5 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี เดิมเป็นงานนมัสการพระพุทธบาทจำลอง ต่อมาการจัดงานได้รับความนิยมมาก จึงได้จัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี

การละเล่นพื้นเมืองที่บ้านท่าโพ อำเภอหนองขาหย่าง
·     จัดขึ้นในเทศกาลตรุษสงกรานต์ คือระหว่างวันที่ 13-14 เมษายน โดยชาวบ้านในหมู่บ้านท่าโพและหมู่บ้านพันสี จะมาร่วมกันจัดการละเล่นพื้นเมืองขึ้นที่วัดท่าโพ โดยจะเก็บดอกไม้แห่เข้าโบสถ์แล้วร้องเพลงพิษ ฐานในโบสถ์ เสร็จแล้วจะออกมาเล่นเพลงชักกะเย่อ เพลงโลม เพลงรำวงโบราณอย่างสนุกสนานแต่ละเพลงมีท่ารำประกอบเฉพาะ ผลัดกันเล่นมอญซ่อนผ้า เจี๊ยบๆ จ้อย ช่วงชัย เสือกินวัว และแม่ศรี ตามแต่จะแข่งขันกัน ซึ่งเป็นประเพณีของชาวไทยที่รักษาไว้และปฏิบัติกันมาหลายชั่วอายุคน การละเล่นต่างๆ ในหมู่บ้านแห่งนี้ส่วนใหญ่ยังคงเนื้อเพลงที่ร้องแบบของเดิมไว้

การละเล่นของชาวกะเหรี่ยง อำเภอบ้านไร่ 
·     ยังคงรักษาประเพณีเดิมไว้ มีเต้นรำเชอโฮเตตามจังหวะ การร้องเพลงกล่อมลูก เป็นต้น ประเพณีการแต่งงานและการหย่าร้าง การนับถือผี งานบุญเจ้าวัด และการทอผ้าพื้นเมือง เป็นต้น ปัจจุบันยังสามารถศึกษาได้จากหมู่บ้านกะเหรี่ยง ตำบลคอกควาย และตำบลแก่นมะกรูด

งานแห่เจ้าของชาวจีนในอุทัยธานี
·     เป็นประเพณีของชาวจีนในอุทัยธานีที่จะจัดพิธีแห่เจ้าพ่อและเจ้าแม่ซึ่งประดิษฐานอยู่ตามศาลต่างๆ โดยกำหนดมีงานตามการครบปีของเจ้าแต่ละองค์ ซึ่งบางองค์ 5 ปีแห่ครั้งหนึ่ง บางองค์ 12 ปีแห่ครั้งหนึ่ง บางองค์ 14 ปีแห่ครั้งหนึ่ง ไม่เหมือนกัน การแห่เจ้าพ่อปุงเถ่ากง เจ้าพ่อหลักเมืองอุทัยธานี จะมีขบวนสาวงามถือธงร่วมขบวนเป็นแถวยาวผ่านตลอดไปตามถนนรอบเมือง และจะมีสิงโตคณะต่างๆ ของชาวจีนในอุทัยธานีร่วมให้พรตามร้านค้าคนจีนในตลาด ซึ่งทุกร้านจะตั้งโต๊ะบูชาประดับด้วยงาช้างขนาดใหญ่สวยงาม ถ้าเป็นงานของเจ้าแม่ทับทิม "จุ้ยบ้วยเนี้ยว" จะมีพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงเจ้าแม่เมื่อครบ 12 ปี และเข้าทรงทำการลุยไฟด้วย

ประวัติเมืองอุทัยธานีและการปกครอง

ประวัติเมืองอุทัยธานีและการปกครอง


เมืองอุทัยธานีมีหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากรยืนยันไว้ว่า เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 3,000 ปี มาแล้ว โดยพบหลักฐานยืนยันในหลายพื้นที่ เช่น โครงกระดูก เครื่องมือหินกะเทาะจากหินกรวด ภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์บนหน้าผา (เขาปลาร้า) เป็นต้น
      ตำนานเก่าเล่าว่า ในสมัยกรุงสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองนั้น ท้าวมหาพรหมได้เข้ามาสร้างเมืองที่บ้านอุทัยเก่า คือ อำเภอหนองฉางในปัจจุบันนี้ แล้วพาคนไทยเข้ามาอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านคนมอญและคนกะเหรี่ยง จึงเรียกว่า "เมืองอู่ไทย" ตามกลุ่มหรือที่อยู่ของคนไทยซึ่งพากันตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างหนาแน่น มีพืชพันธุ์และอาหารอุดมสมบูรณ์กว่าแห่งอื่น ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทางเดินและเกิดกันดารน้ำ เมืองอู่ไทยจึงถูกทิ้งร้าง จนในที่สุด พะตะเบิดได้เข้ามาปรับปรุงเมืองอู่ไทย โดยขุดที่เก็บกักน้ำไว้ใกล้เมือง และพะตะเบิดได้เป็นผู้ปกครองเมืองอู่ไทยเป็นคนแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา
      เมืองอู่ไทยต่อมาได้เรียกกันเป็น "เมืองอุไทย" คาดว่าเพี้ยนไปตามสำเนียงชาวพื้นเมืองเดิม ได้มีฐานะเป็นหัวเมืองด่านชั้นนอก มีพระพลสงครามเป็นนายด่านแม่กลอง และพระอินทรเดชเป็นนายด่านหนองหลวง (ปัจจุบันแม่กลองคืออำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และหนองหลวงคือตำบลหนองหลวง อำเภออุ้มผาง) คอยดูแลพม่าที่จะยกทัพมาตามเส้นทางชายแดนด่านแม่ละเมา
      ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. 2148-2163) ได้โปรดเกล้าฯ ให้บัญญัติอำนาจการใช้ตราประจำตำแหน่ง มีบัญชาการตามหัวเมืองนั้น ได้ระบุในกฎหมายเก่าลักษณะพระธรรมนูญว่า "เมืองอุไทยธานี เป็นหัวเมืองขึ้นแก่มหาดไทย"
      เมืองอุไทยธานีเป็นเมืองที่อยู่บนที่ดอนและลึกเข้าไป ไม่มีแม่น้ำสายใหญ่และไม่สามารถติดต่อทางเรือได้ ดังนั้นชาวเมืองจึงต้องขนข้าวบรรทุกเกวียนมาลงที่แม่น้ำ จึงทำให้พ่อค้าพากันไปตั้งยุ้งฉางรับซื้อข้าวที่ริมแม่น้ำจนเป็นหมู่บ้านใหญ่ เรียกว่าหมู่บ้าน "สะแกกรัง" เนื่องจากเป็นพื้นที่มีป่าสะแกขึ้นเต็มริมน้ำและมีต้นสะแกใหญ่อยู่กลางหมู่บ้าน บ้านสะแกกรัง ชาวจีนเรียกเพี้ยนเป็น "ซิเกี๋ยกั้ง" เป็นตลาดซื้อข้าวที่มีพ่อค้าคนจีนนิยมไปตั้งบ้านเรือนและยุ้งฉาง ต่อมาในระยะหลังได้มีเจ้านายและขุนนางมาตั้งบ้านเรือนอยู่ เพราะความสะดวกในการกะเกณฑ์สิ่งของส่งเมืองหลวงซึ่งเป็นจำพวกมูลค้างคาว ไม้ซุง กระวาน และช้างป่า อีกทั้งยังมีช่องทางในการค้าข้าวอีกด้วย
      ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (พ.ศ. 2251-2275) นั้น หมื่นมหาสนิท (ทองคำ) ซึ่งย้ายมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสะแกกรังนั้น ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาราชนกูล และต่อมาได้กำเนิดบุตรชายคนโตชื่อ "ทองดี " เกิดที่สะแกกรัง สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกฯ พระนามเดิม ทองดี เดิมทรงรับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระเจ้าบรมโกศ) ได้ดำรงตำแหน่งพระอักษรสุนทร เสมียนตรากรมมหาดไทย ถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 (พระเจ้าเอกทัศ) พม่ายกกองทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา เกิดการระส่ำระสายแตกสามัคคีในพระนคร จึงทรงอพยพครอบครัวไปรับราชการกับเจ้าเมืองพิษณุโลก ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ ต่อมาทรงพระประชวร สิ้นพระชนม์ในเมืองพิษณุโลก บุตรชายชื่อ "ทองด้วง" ภายหลังได้รับราชการเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และสถาปนาเป็นกษัตริย์ราชวงศ์จักรีปกครองแผ่นดินทรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" ทรงอัญเชิญพระอัฐิส่วนหนึ่งประดิษฐาน ณ หอพระในพระบรมมหาราชวังเพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการถวายบังคมในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาในฐานะสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกแห่งราชวงศ์จักรี พระอัฐิอีกส่วนหนึ่ง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท อัญเชิญเข้าประดิษฐานในพระเจดีย์ทองในพระมณฑปวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ มีประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งเครื่องทองน้อย เพื่อสักการบูชาทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนิน
      พ.ศ. 2376 ข้าราชการชาวกรุงเทพฯ ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาอุไทยธานี เจ้าเมืองอุไทยธานีในสมัยนั้น ได้เห็นว่าบ้านสะแกกรังเป็นตลาดใหญ่ มีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่กันอย่างหนาแน่น อีกทั้งเป็นสถานที่ที่ชาวอุไทยธานีติดต่อค้าขายข้าวและไม้ซุงกับพ่อค้าที่นั่นมานานแล้ว จึงคิดตั้งบ้านเรือนเพื่อค้าขาย ประจวบกับเวลานั้น เจ้าเมืองไชยนาทเป็นเพื่อนกัน จึงขอตั้งบ้านเรือนที่ริมแม่น้ำสะแกกรัง เนื่องจากผู้คนมาติดต่อราชการและมาค้าขายกันมาก ทั้งนี้ เนื่องจากเจ้าเมืองไม่กล้าขึ้นไปเมืองอุไทยธานีเก่า อ้างว่ากลัวไข้ป่า จึงเป็นเหตุให้พากันอพยพมาอยู่กันมากขึ้น
      พ.ศ. 2391 ได้มีการแบ่งเขตดินแดนเมืองอุไทยธานีและเมืองไชยนาท โดยตัดเขตบ้านสะแกกรังทางฝั่งคลองฟากใต้ ตั้งแต่ท้ายบ้านสะแกกรังไปจดเมืองอุไทยธานีเก่า โอนที่นั่นจากเมืองไชยนาทเป็นของเมืองอุไทยธานี ดังนั้นเมืองอุไทยธานี จึงตั้งอยู่ที่ปลายสุดเขตแดนเมืองมโนรมย์ ข้างใต้บ้านลงมาสักคุ้งน้ำหนึ่งก็เป็นแดนเมืองไชยนาท
      พ.ศ. 2441 เมืองอุไทยธานีขึ้นกับมณฑลนครสวรรค์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนไปขึ้นกับมณฑลอยุธยา สุดท้ายมีการประกาศเลิกมณฑลปี พ.ศ. 2476 และจัดให้จังหวัดเป็นหน่วยปกครองส่วนภูมิภาคที่สำคัญที่สุด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ ตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน
การปกครองแบ่งออกเป็น อำเภอ 68 ตำบล 632 หมู่บ้าน
1.       อำเภอเมืองอุทัยธานี
2.       อำเภอทัพทัน
3.       อำเภอสว่างอารมณ์
4.       อำเภอหนองฉาง
5.       อำเภอหนองขาหย่าง
6.       อำเภอบ้านไร่
7.       อำเภอลานสัก
8.       อำเภอห้วยคต