เทศกาลประเพณี
งานตักบาตรเทโว วัดสังกัสรัตนคีรี
· ถือเป็นประเพณีสำคัญในวันออกพรรษาของจังหวัดอุทัยธานี
ซึ่งจะจัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ
เดือน 11 (ตุลาคม) ของทุกปี
พระสงฆ์ทุกรูปที่จำพรรษาในเขตอำเภอเมืองอุทัยธานีประมาณ 200-300 รูป จะออกรับบิณฑบาตโดยเดินลงบันไดจากยอดเขาสะแกกรังนำด้วยพระพุทธรูปปางเสด็จจากดาวดึงส์ลงมารับบิณฑบาตข้าวสารจากพุทธศาสนิกชนที่ลานวัด
โดยสมมติมณฑปบนยอดเขาสะแกกรังเป็น "สิริมหามายากูฎคาร"
ที่พระพุทธเจ้าทรงเทศน์โปรดมารดา แล้วเสด็จกลับสู่โลกมนุษย์ลงบันได 339 ขั้น ซึ่งถือเป็นบันไดแก้วสู่กัสนคร คือ บริเวณวัดสังกัสรัตนคีรี
ในวันนั้นประชาชนจะแต่งกายสวยงามและมาร่วมทำบุญกันอย่างพร้อมเพรียง
นับเป็นงานประเพณีที่มีชื่อเสียงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทุกปี
งานไหว้พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ วัดสังกัสรัตนคีรี
· เป็นงานท้องถิ่น จัดขึ้นในวันขึ้น 3-8 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี เป็นงานประเพณีไหว้พระคู่บ้านคู่เมืองอุทัยธานี
ซึ่งเดิมนั้นเป็นงานนมัสการปิดทองพระพุทธบาทจำลองบนยอดเขาสะแกกรัง
ในระยะหลังจึงจัดงานในคราวเดียวกันที่วัดนี้ในวันขึ้น 5 ค่ำ
เนื่องจากเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่มาไหว้พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์และขึ้นยอดเขาเพื่อปิดทองพระพุทธบาทจำลองมากที่สุด
และได้จัดให้มีการละเล่นสนุกสนานควบคู่กันไปทุกปี
งานประจำปีวัดหนองขุนชาติ อำเภอหนองฉาง
· โดยจัดให้มีงานในวันขึ้น 12 ค่ำ - วันแรม 5 ค่ำ เดือน 3
ของทุกปี เดิมเป็นงานนมัสการพระพุทธบาทจำลอง
ต่อมาการจัดงานได้รับความนิยมมาก จึงได้จัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี
การละเล่นพื้นเมืองที่บ้านท่าโพ อำเภอหนองขาหย่าง
· จัดขึ้นในเทศกาลตรุษสงกรานต์ คือระหว่างวันที่ 13-14 เมษายน
โดยชาวบ้านในหมู่บ้านท่าโพและหมู่บ้านพันสี
จะมาร่วมกันจัดการละเล่นพื้นเมืองขึ้นที่วัดท่าโพ
โดยจะเก็บดอกไม้แห่เข้าโบสถ์แล้วร้องเพลงพิษ ฐานในโบสถ์
เสร็จแล้วจะออกมาเล่นเพลงชักกะเย่อ เพลงโลม
เพลงรำวงโบราณอย่างสนุกสนานแต่ละเพลงมีท่ารำประกอบเฉพาะ ผลัดกันเล่นมอญซ่อนผ้า
เจี๊ยบๆ จ้อย ช่วงชัย เสือกินวัว และแม่ศรี ตามแต่จะแข่งขันกัน
ซึ่งเป็นประเพณีของชาวไทยที่รักษาไว้และปฏิบัติกันมาหลายชั่วอายุคน การละเล่นต่างๆ
ในหมู่บ้านแห่งนี้ส่วนใหญ่ยังคงเนื้อเพลงที่ร้องแบบของเดิมไว้
การละเล่นของชาวกะเหรี่ยง อำเภอบ้านไร่
· ยังคงรักษาประเพณีเดิมไว้ มีเต้นรำเชอโฮเตตามจังหวะ
การร้องเพลงกล่อมลูก เป็นต้น ประเพณีการแต่งงานและการหย่าร้าง การนับถือผี
งานบุญเจ้าวัด และการทอผ้าพื้นเมือง เป็นต้น
ปัจจุบันยังสามารถศึกษาได้จากหมู่บ้านกะเหรี่ยง ตำบลคอกควาย และตำบลแก่นมะกรูด
งานแห่เจ้าของชาวจีนในอุทัยธานี
· เป็นประเพณีของชาวจีนในอุทัยธานีที่จะจัดพิธีแห่เจ้าพ่อและเจ้าแม่ซึ่งประดิษฐานอยู่ตามศาลต่างๆ
โดยกำหนดมีงานตามการครบปีของเจ้าแต่ละองค์ ซึ่งบางองค์ 5 ปีแห่ครั้งหนึ่ง บางองค์ 12
ปีแห่ครั้งหนึ่ง บางองค์ 14 ปีแห่ครั้งหนึ่ง
ไม่เหมือนกัน การแห่เจ้าพ่อปุงเถ่ากง เจ้าพ่อหลักเมืองอุทัยธานี
จะมีขบวนสาวงามถือธงร่วมขบวนเป็นแถวยาวผ่านตลอดไปตามถนนรอบเมือง
และจะมีสิงโตคณะต่างๆ ของชาวจีนในอุทัยธานีร่วมให้พรตามร้านค้าคนจีนในตลาด
ซึ่งทุกร้านจะตั้งโต๊ะบูชาประดับด้วยงาช้างขนาดใหญ่สวยงาม
ถ้าเป็นงานของเจ้าแม่ทับทิม "จุ้ยบ้วยเนี้ยว"
จะมีพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงเจ้าแม่เมื่อครบ 12 ปี
และเข้าทรงทำการลุยไฟด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น